เริ่มขึ้นตอนปลายศตวรรษที่ 18 ในประเทศฝรั่งเศส
สืบเนื่องจากความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางศิลปะอย่างขนานใหญ่ ทั้งรูปแบบและจุดประสงค์
โดยเฉพาะสร้างสรรค์งานจิตรกรรม
ศิลปินยุคใหม่ต่างพากันปลีกตัวออกจากการยึดหลักวิชาการ (Academic) ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่มีรากฐานมาจากศิลปะกรีกและโรมัน
มาใช้ความรู้สึกนึกคิดและความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคนอย่างอิสระ
แยกศิลปะออกจากศาสนาโดยสิ้นเชิง ศิลปะจึงเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลอย่างแท้จริง
ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ จึงทำให้เกิดรูปแบบศิลปะใหม่ ๆ
ขึ้นมากมาย ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ศิลปะแบบนีโอคลาสสิก (Neo-Classic)
นีโอคลาสสิกเป็นรูปแบบศิลปะที่อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างสมัยใหม่กับสมัยเก่า
ภาพเขียนจะสะท้อนเรื่องราวทางอารยธรรม เน้นความสง่างามของรูปร่างทรวดทรงของคนและส่วนประกอบของภาพ
มีขนาดใหญ่โต แข็งแรง มั่นคง ใช้สีกลมกลืน มีดุลยภาพของแสง และเงาที่งดงาม
ศิลปินที่สำคัญของศิลปะแบบนีโอคลาสสิก ได้แก่ ชาก ลุย ดาวิด (ค.ศ. 1748-1825) ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานของศิลปะแบบนีโอคลาสสิก งานจิตรกรรมที่มีชื่อเสียง เช่น
การสาบานของโฮราตี (The Oath of Horatij)
การตายของมาราต์ (The Death of
Marat) การศึกระหว่างโรมันกับซาไบน์ (Battle
of the Roman and Sabines) และ เบนจามิน เวสต์ (Benjamin West,
1738-1820) เป็นต้น
ศิลปะแบบโรแมนติก (Romanticism)
ศิลปะแบบโรแมนติก เป็นศิลปะรอยต่อจากแบบนีโอคลาสสิก
แสดงถึงเรื่องราวที่ตื่นเต้น เร้าใจ สะเทือนอารมณ์แก่ผู้พบเห็น
ศิลปินโรแมนติกมีความเชื่อว่าศิลปะจะสร้างสรรค์ตัวของมันเองขึ้นได้ด้วยคุณค่าทางอารมณ์ของผู้ดูและผู้สร้างสรรค์
ศิลปินที่สำคัญของศิลปะโรแมนติก ได้แก่
เจริโคต์ (Gericault) ผลงานจิตรกรรมที่มีชื่อเสียงมาก คือ
การอับปางของเรือเมดูซา (Raft of the Medusa) เดอลาครัว (Delacroix) ชอบเขียนภาพที่แสดงความตื่นเต้น
เช่น ภาพการประหารที่ทิชิโอ
ความตายของชาดาร์นาปาล
การฉุดคร่าของนางรีเบกกา
วิลเลียม เทอเนอร์ (Josept
Mallord William Turner, 1775-1851)
ฟรานซิสโก โกยา (Francisco Goya) ชอบเขียนภาพแสดงการทรมาน
การฆ่ากันในสงคราม คนบ้า
ตลอดจนภาพเปลือย เช่น ภาพเปลือยของมายา (Maya the nude) เป็นต้น
ศิลปะแบบเรียลิสม์ (Realism)
ศิลปินกลุ่มเรียลิสม์มีความเชื่อว่าความจริงทั้งหลายคือความเป็นอยู่จริง ๆ
ของชีวิตมนุษย์ ดังนั้น ศิลปินกลุ่มนี้จึงเขียนภาพที่เป็นประสบการณ์ตรงของชีวิต
เช่น ความยากจน การปฏิวัติ ความเหลื่อมล้ำในสังคม
โดยการเน้นรายละเอียดเหมือนจริงมากที่สุด
ศิลปินสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่
โดเมียร์ (Daumier) ชอบวาดรูปชีวิตจริงของความยากจน คูร์เบต์ (Courbet) ชอบวาดรูปชีวิตประจำวันและประชดสังคม มาเนต์ (Manet) ชอบวาดรูปชีวิตในสังคม
เช่น การประกอบอาชีพ โรแดง (August
Rodin, 1840 – 1917) และ มีลเลต์ (Jean-Francois Millet)
ศิลปะแบบอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism)
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEiq3v9rTDDKghRag8A4MC12ZzUMElw6FhPbOHUvP0wGNbvpaGDuKz38FGmDCYuCX-HL3_iazF_NoNWtw-K6kYL8fBeUMyqEsE99O8b4IIRAzfRn3VvnXZmlFflGqXscoN_Gr2O_EAsdprw/s1600/Autoportret_Claude_Monet.jpg)
ศิลปะแบบอิมเพรสชันนิสม์
จะมุ่งเน้นถึงการวาดภาพที่จับซึ่งสายตาสัมผัสรับรู้ในช่วง ณ.เวลานั้นและเป็นช่วงเวลาที่ฉับพลัน
และจะมีการแยกแยะสีที่จะเข้ามาประกอบกันเข้าเป็นแสงที่ส่องต้องสิ่งต่าง ๆ
ทำให้เกิดพื้นผิวภาพที่เต็มไปด้วยสีสันที่แปรเปลี่ยนเป็นภาพที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง
ลักษณะของภาพวาดแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ คือ การใช้พู่กันตระหวัดสีอย่างเข้ม ๆ
ใช้สีสว่าง ๆ
มีส่วนประกอบของภาพที่ไม่ถูกบีบ เน้นไปยังคุณภาพที่แปรผันของแสง
(มักจะเน้นไปยังผลลัพธ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเวลา)
เนื้อหาของภาพเป็นเรื่องธรรมดาๆ และมีมุมมองที่พิเศษ
จิตรกรแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ ได้ฉีกกรอบการวาดที่มาตั้งแต่อดีต
มักจะวาดภาพกลางแจ้งมากกว่าในห้องสตูดิโออย่างที่ศิลปินทั่วไปนิยมกัน
เพื่อที่จะลอกเลียนแสงที่แปรเปลี่ยนอยู่เสมอในมุมมองต่าง ๆ
ภาพวาดแบบอิมเพรสชั่นนิสม์
ประกอบด้วยการตระหวัดพู่กันแบบเป็นเส้นสั้น ๆ ของสี ไม่ได้ผสมหรือแยกเป็นสีใดสีหนึ่ง
ซึ่งได้ให้ภาพที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและมีชีวิตชีวา
พื้นผิวของภาพวาดนั้นมักจะเกิดจากการระบายสีแบบหนา ๆ องค์ประกอบของอิมเพรสชั่นนิสม์
ยังถูกทำให้ง่ายและแปลกใหม่ และจะเน้นไปยังมุมมองแบบกว้างๆ มากกว่ารายละเอียด
ศิลปินที่สำคัญของกลุ่มอิมเพรสชันนิสม์ ได้แก่ โคลด โมเนต์ (Claude
Monet) ซิสเลย์ (Alfred Sisley) เดอกาส์
(Edgar Degas) ปิซาโร
(Camille Pissarro) เรอนัว
(Pierre-Auguste Renoir) มาเนต์
(Edouard Manet)
ศิลปะแบบโพสต์ – อิมเพรสชันมิสม์
(Post-Impressionism)
ศิลปะแบบโพสต์ – อิมเพรสชันมิสม์
นั้นเกิดขึ้นทางเหนือของยุโรป โดยที่ศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเยอรมัน
ศิลปะแบบโพสต์ – อิมเพรสชันมิสม์ จะมุ่งการแสดงออกทางความรู้สึก อารมณ์
จิตวิญญาณมากกว่ามุ่งนำเสนอความเป็นจริงทางวัตถุ สื่อผ่านการใช้สีที่รุนแรงและเกินความเป็นจริง
โดยเน้นความพอใจของศิลปินเป็นหลัก ไม่ยึดถือกฏเกณฑ์ และธรรมเนียมใด ๆ
ในอดีตเลย
สีที่ใช้นั้นจะสื่อถึงพลังที่ถูกบีบคั้นบังคับกดดันที่อยู่ในความรู้สึกนึกคิดของจิตใจคน เป็นการปดปล่อยอารมณ์ผ่านสี
และฝีแปรงที่ให้ความรู้สึกที่รุนแรงกดดัน ฝีแปรงที่อิสระ
ศิลปินในกลุ่มนี้ได้แก่ แวนโกะ (Vincent Van Gogh) โบนนาร์ด (Pierre Bonnard) เซซาน (Paul Cezanne) โกแกง
(Paul Gauguin)
ศิลปะแบบเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Expressionism)
ศิลปะแบบเอ็กซ์เพรสชันนิสม์
เกิดขึ้นทางเหนือของยุโรป โดยที่ศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเยอรมัน ศิลปะแนวนี้ ได้รับอิทธิพลจากศิลปินสำคัญ 2
คนคือ Vincent Van Gogh และศิลปินชาว Norwegian ที่ชื่อ
Edvard Munch ซึ่งทั้งสองคนนี้ ใช้สีที่รุนแรง
และเกินความเป็นจริง โดยเน้นความพอใจของศิลปินเป็นหลัก ไม่ยึดถือ กฏเกณฑ์
และธรรมเนียมใดๆในอดีตเลย สีที่ใช้นั้นจะสื่อถึงพลังที่ถูกบีบคั้นบังคับกดดัน
ที่อยู่ในความรู้สึกนึกคิด ของจิตใจคน เป็นการปดปล่อยอารมณ์ผ่านสี
และฝีแปรงที่ให้ความรู้สึก ที่แข็งๆ ดิบ
รุนแรง
ศิลปินที่สําคัญช่น เอ็ดวาร์ด
มุนช์ (Edvard Munch, ค.ศ. 1863-1944) ฟรัชซ์ มาร์ค (Franz Marc, ค.ศ.
1880-1916) วาสสิลี่
แคนดินสกี (Wassily Kandinsky, ค.ศ. 1866-1944)
ศิลปะแบบคิวบิสม์ (Cubism)
งานศิลปะแบบคิวบิสม์ คือ
การที่ศิลปินเข้ามาจัดระเบียบให้กับธรรมชาติ หรือสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว เสียใหม่ โดยการนำเอารูปทรงเลขาคณิตต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็น ทรงกลม ทรงกรวย หรือ ทรงกระบอกมาปรับเปลี่ยนให้รับกัน
โดยที่จะไม่มีการแสดงอะไรที่ชัดเจนให้เห็นว่า อะไรเป็นอะไรในภาพ
แต่ขณะเดียวกันในภาพก็ยังมีเนื้อหาอยู่
ศิลปินผู้นำศิลปะคิวบิสม์ ได้แก่
พาโบล ปิกาสโซ (Pablo
Picasso, 1881-1973), จอร์จ บราค (Georges Braque, 1882-1963)
ศิลปะแบบโฟวิสม์ (Fauvist)
คำว่า “โฟวิสม์”
Fauvist เป็นภาษาฝรั่งเศส
แปลว่า “สัตว์ป่า”
ลักษณะงานศิลปะแบบโฟวิสม์นี้
สร้างงานจิตรกรรมแนวใหม่
ใช้รูปทรงอิสระ
ใช้สีสดใสตัดกันอย่างรุนแรง
เน้นการสร้างงานตามสัญชาตญาณแห่งการแสดงออกอย่างเต็มที่
ผลงานที่เกิดขึ้นจะแสดงให้เห็นถึงความสนุกสนาน อันเกิดจากลีลาของรอยแปรงและจังหวะของสิ่งต่าง
ๆ นอกจากนี้ จะนำลีลาของเส้นมาใช้ใหม่
เช่น การตัดเส้นรอบนอกของสิ่งต่าง ๆ เพื่อสร้างความโดดเด่น
ศิลปินสําคัญ เช่น อัลแบร์ต มาร์เกต์ (Albert Marquet, ค.ศ. 1875-1947) อองรี
มาตีสส์ (Henri Matisse, ค.ศ.
1869-1954) เป็นต้น
ศิลปะแบบฟิวเจอร์ริสม์ (Futurism)
เป็นศิลปะที่เกิดขึ้นในประเทศอิตาลี
โดยศิลปินชาวอิตาเลียน
แนวคิดของศิลปะไม่เกี่ยวกับเรื่องสตรีเพศ ไม่สนใจภาพเปลือย ความงามที่ถือว่าเป็นแนวทางการทํางานของลัทธินี้
คือ เรื่องของความเร็ว วิทยาศาสตร์ เทคนิควิชาการต่างๆ ศิลปินลัทธิฟิวเจอร์ริสม์นี้ ไม่เห็นด้วยกับความคิดเฟ้อฝัน
หรือการหยุดนิ่งอยู่กับที่ จะมีแรงบันดาลใจเกี่ยวกับความงามจากเครื่องไฟฟ้า รถยนต์
หรือเครื่องบิน นอกจากนี้ยังยึดหลัก 2 ประการ คือ ความเคลื่อนไหวของร่างกายในอวกาศ
และความเคลื่อนไหวของวิญญานในร่างกาย
หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นศิลปะที่ยึดเอาทฤษฎี
เกี่ยวกับพลังความเคลื่อนไหวที่รุนแรง
โดยได้แสดงออกมาด้วยวิธีเขียนภาพที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว ความอึกทึกครึกโครม
ความสับสน อลหม่าน
ศิลปะแบบนามธรรม (Abstract)
ศิลปะ Abstract คือ
งานศิลปะที่ไม่มีอะไรเหมือนจริงในธรรมชาติเลย
แต่จะเป็นความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินที่
แสวงหาวิธีการแสดงออกทางความคิด ที่เป็นอิสระของเส้น สี และรูปทรง พลังทางอารมณ์และความรู้สึก เน้นที่การแสดงออก 2 ประการคือ
ตัดทอนสิ่งต่าง ๆ
ในธรรมชาติให้รูปทรงที่ง่ายและเหลือเพียงแก่นแท้
รวมทั้งสร้างรูปทรงโดยไม่ต้องการเสนอเรื่องราวใดๆ เป็นพื้นฐาน
ศิลปะแบบดาดาอิสม์ (Dadaism)
ศิลปินกลุ่มดาดามีแนวคิดและปฎิกริยาต่อต้านงานศิลปกรรมเก่าๆ ในอดีต มีแนวคิดว่า สิ่งเหล่านั้น
เกิดจากการสร้างของศิลปินที่มีจิตใจคับแคบ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องสร้างผลงานแนวใหม่ด้วยการหันเหไปสู่ความเป็นปฏิปักษ์ต่อศิลปะแบบเก่า
(Anti-Art) การแสดงออกของศิลปินกลุ่มนี้
จะเน้นการสร้างผลงานที่แสดงถึงการมองโลกในแง่ร้าย รวมทั้งเน้นอารมณ์แดกดัน
เยาะเย้ย ถากถาง (Irony and Cynicism) และนอกจากที่กล่าวมาแล้ว กลุ่มดาดายังเน้นการสร้างงานที่ผิดหลักความจริง
แต่อย่างไรก็ตาม ลัทธิดาดาอิสม์ได้ให้แนวคิดหลายประการที่มีคุณประโยชน์ต่อวงการศิลปะ
เช่น แนวคิดที่ว่า ศิลปะไม่ควรยึดติดกับหลักตรรกวิทยา
และเมื่อต้องการปลดปล่อยจิตไร้สำนึกต้องแสดงพฤติกรรมอย่างอิสระและอย่างเต็มที่
แม้ว่าจิตสํานึกจะมีแนวโน้มที่จะแสดงออกแบบแปลกๆ ก็ตาม
ศิลปินที่สำคัญ เช่น คอร์ท ชวิทแทร์ส (Kurt Schwitters, ค.ศ. 1887-1948) มาร์เซล
ดูชอมพ์ (Marcel Duchamp,
ค.ศ. 1887-1968) เป็นต้น
ศิลปะแบบเซอร์เรียลิสม์ (Surrealism)
ศิลปะเหนือจริงหรือเซอร์เรียลิสม์ พัฒนาขึ้นมาในยุโรป พร้อมกับแนวคิดจิตวิทยาจิตวิเคราะห์
(Psychoanalysis) ซึ่งมีซิกมันด์
ฟรอยด์ นักจิตวิทยาชาวออสเตรียเป็นผู้นำแนวคิด ศิลปะเหนือจริง
มุ่งสะท้อนภาพความเก็บกด ภาพความจริงจากระดับจิตใต้สำนึก จิตไร้สำนึก
ความฝันที่คนเราพยายามซ่อนเร้นไว้ด้วยระดับจิตสำนึก(consciousness) ซึ่งแสดงศีลธรรมจริยธรรมในสังคม
ศิลปินที่สําคัญ คือ ซาลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dali, 1904– 1989),
แมกซ์ แอร์นส์ (Max Ernst, 1891 – 1976) , โจอัน มิโร (Joan Miró 1893 –1983) เป็นต้น
ศิลปะอาร์ตนูโว (Art Nouveau)
ศิลปะอาร์ตนูโว รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ยูเกนด์ชติล (เยอรมัน: Jugendstil – สไตล์วัยเยาว์)
เป็นลักษณะศิลปะ สถาปัตยกรรม
และศิลปะประยุกต์
ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดในช่วง ค.ศ. 1890 – 190 มีจุดเด่นคือ ใช้รูปแบบธรรมชาติ
โดยเฉพาะดอกไม้และพืชอื่นๆ มาทำเป็นลวดลายเส้นโค้งที่อ่อนช้อย
ลักษณะรูปแบบจะเป็นการลดทอนรูปแบบจากรุขชาติ แมลง และเปลือกหอย ใบไม้ เถาวัลย์
ตามธรรมชาติ นำมาประดิษฐ์เป็นลวดลายประดับทั้งภายในภายนอก อาคารตลอดจนเครื่องใช้
ของประดับบ้านและเครื่องแต่งกายโถงบันได Victor Horta Museum ศิลปะแนวอาร์ตนูโวที่ชัดเจนแห่งหนึ่ง
ศิลปะอาร์ตนูโวเป็นรูปแบบที่นำกลับมาใช้ตกแต่งเสมอๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในอาคารพาณิชย์ เช่น ร้านอาหารฝรั่งเศส ร้านขายเสื้อผ้าสตรี
และกิจการเกี่ยวกับความงามอื่น ๆ โดยแรงบันดาลใจจากรูปทรง คือ สีจากธรรมชาติ
ของฤดูใบไม้ร่วง ได้แก่ สีจากฤดูกาล เช่น
สีโทนส้มและน้ำตาล สีจากพืชพันธุ์ต่าง ๆ เช่น สีเขียวเข้ม สีเขียวตอง และ
สีของดอกไม้ เช่น สีขาวนวลดอกมะลิ
สีม่วงดอกไอริส สีแดงดอกป๊อบบี้
เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการหาวัสดุและแร่ธาตุจากธรรมชาติ ได้แก่ งาช้าง เงิน ทองแดง
นำมาใช้ด้วยเช่นกัน
ศิลปินที่สําคัญ คือ กุสตาฟ คลิมต์ (Gustav Klimt, 1862-1918) อัมรอน
มุชชา (Alphonse Mucha,
1860-1939) อันโตนิโอ
เกาดี้ (Antonio Gaudi,
1852-1926) เฮ็คเตอร์
กุยมาร์ (Hector Guimard,
1867-1942
ศิลปะป๊อป อาร์ต (Pop Art)
ศูนย์กลางความเจริญทางด้านศิลปวัฒนธรรมอยู่ที่ยุโรปยาวนานร่วม ๆ พันปี
นับตั้งแต่ยุคกลางมาแต่พอมาถึงศตวรรษที่ 20 ฝั่งอเมริกาก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ
และวัฒนธรรมของอเมริกาก็ส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลกอย่างไม่น่าเชื่อ
ด้วยวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดเป็นสื่อนำภาพยนตร์นี้ก่อให้เกิดดารา แฟชั่น การโฆษณา และเพลงประกอบ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนรุ่นใหม่ไปทั่วทั้งโลก
ศิลปะป๊อบอาร์ตที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ป๊อบอาร์ต
เป็นแบบอย่างของศิลปะที่สะท้อนพลังสภาพแท้จริงของสังคมปัจจุบันตามความรู้สึกความเข้าใจของสามัญชนทั่วไป
ในชั่วขณะหนึ่ง เวลาหนึ่ง เป็นศิลปะที่เกี่ยวกับความชุลมุนวุ่นวายของสังคม
พลุ่งประดุจพลุ ชอบวันนี้ พรุ่งนี้ลืม
กลุ่มศิลปินที่สร้างสรรค์งานชนิดนี้เชื่อว่า
ศิลปะสร้างขึ้นจากสิ่งสัพเพเหระ ของชีวิตประจำวัน
เป็นการแสดงความรู้สึกของประสบการณ์ที่พบเห็นของศิลปินในช่วงเวลานั้น ขณะนั้น ณ
ที่แห่งนั้น
เรื่องราวที่ศิลปินนำเสนอมีแตกต่างกันไป เช่น บางคนเขียนเรื่องเกี่ยวกับดารายอดนิยม เขียนภาพโฆษณา เรื่องง่าย ๆ ใกล้ ๆ
ตัวจึงทำให้หลาย ๆ คนเห็นว่างานแนวนี้ไม่ควรค่าแก่คำว่าศิลปะ เพราะเป็นความนิยมแค่ชั่ววันชั่วคืน ตื่นเต้น
ฮือฮา พักหนึ่งก็จางหาย
อย่างไรก็ตามกลุ่มที่นิยมในแนวนี้ก็ยังคงยืนยันว่า ป๊อบอาร์ตคือศิลปะ
เขาอ้างว่า สิ่งเหล่านี้เป็นศิลปะแน่นอน
เพราะผลงานนั้นกระตุ้นให้เราตอบสนองทางความรู้สึกอย่างนั้น ที่จริงแล้ว
สิ่งที่เรารู้ว่าเป็นศิลปะ คือ สิ่งที่ศิลปินสร้างสรรค์
พวกเขามีความเชื่อเกี่ยวกับสุนทรียภาพว่า สุนทรียภาพ
คือความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับสภาพต่าง ๆ ที่ปรากฏในโลกของอุตสาหกรรม โลกชนบท
และโลกเศรษฐกิจ
ศิลปินพยายามตอบสนองโลกที่แวดล้อมภายนอกเหล่านี้โดยแสดงความรู้สึกด้วยภาพ
ซึ่งใช้วิธีการของแอบแสตรกเอ็กซเพรสชั่นนิสม์ คิวบิสม์
ตามความเหมาะสม
ศิลปะอ๊อป อาร์ต (Op Art)
ศิลปะอ๊อปอาร์ต เป็นศิลปะที่มุ่งถึงสายตา การมองเห็น
เรื่องตาเป็นเรื่องสำคัญของศิลปะแบบนี้ การรับรู้ทางตา
เป็นปัญหาที่พยายามค้นคว้ากันอยู่เสมอ
นักจิตวิทยาบางคนพยายามที่จะทดลองหาข้อเท็จจริงว่า ตาหรือสมองกันแน่
ที่เป็นสื่อกระตุ้นประสาทการรับรู้ต่าง ๆ ของมนุษย์
โดยพยายามที่จะหาข้อมูลเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการเห็น
การคิด ความรู้สึกและความจำ แต่ก็ไม่สามารถวิเคราะห์ออกจากกันได้ว่าอันไหนสำคัญกว่า
เมื่อยังหาข้อสรุปไม่ได้ ว่าตาหรือสมองสำคัญกว่ากัน ศิลปินอ๊อปอาร์ต
จึงเลือกเชื่อตามความคิดของตนว่า
ตามีความสำคัญกว่า เน้นการเห็นด้วยตา เป็นข้อสมมติฐานในการแสดงออกทางศิลปะ
แนวคิดของงานอยู่บนความเชื่อที่ว่า จิตรกรรมประกอบด้วยเส้นและสี ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ เส้นและสีต้องมีการแสดงออกอย่างเสรี โดยไม่เลียนแบบธรรมชาติ
เส้นและสีต้องมีความกลมกลืนกัน
ศิลปินที่พยายามแสดงความรู้สึกของตนอย่างเสรี จะยึดรูปทรงง่าย ๆ
เป็นหลัก ยิ่งง่ายยิ่งเป็นสากล สียิ่งบริสุทธิ์ก็ยิ่งเป็นสากล สีที่บริสุทธิ์ คือ แม่สีเบื้องต้นที่ไม่ได้เกิดจากการผสมจากสีอื่น
ศิลปะอ๊อปอาร์ต
ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มฟิวเจอริสม์
ซึ่งย้ำเน้นถึงความเคลื่อนไหว ความเร็ว
และวิทยาศาสตร์แขนงฟิสิกส์เป็นอันมาก
ศิลปะอ๊อปอาร์ตจะเน้นความเคลื่อนไหวของรูปแบบให้เป็นจิตรกรรม โดยวิธีการซ้ำ
ๆ กันของส่วนประกอบทางศิลปะ
เพื่อให้ผู้ดูตระหนักในความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบศิลปะที่สะท้อนภาพสังคมปัจจุบัน
แบบอย่างของศิลปะอ๊อปอาร์ต นอกจากจะเป็นจิตรกรรมแล้ว
ในวงการอุตสาหกรรมศิลปะอ๊อปอาร์ตก็มีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันอยู่มาก
ในรูปแบบของลายผ้า การตกแต่งเวที
การจัดร้านต่าง ๆ เป็นต้น
ศิลปะไคเนติกอาร์ต (Kinetic art)
เป็นงานศิลปะที่อยู่บนฐานความคิดและความเชื่อทางศิลปะที่ว่า แสงเงา
และความเคลื่อนไหวสามารถสร้างงานศิลปะขึ้นได้ วัตถุต่างๆ อาจทำให้เกิดการหมุนวน
และสร้างรูปแบบอันน่าสนใจจากแสงและเงา
ไคเนติกอาร์ต เป็นการรวบรวมเอาชิ้นวัตถุที่เคลื่อนไหว เช่น แผ่นกระจก โลหะ
หรือวัสดุสังเคราะห์อื่นๆ เข้าด้วยกันเป็นองค์ประกอบ
พร้อมด้วยการเปลี่ยนแปลงของแสงสี เพื่อสร้างเงาและแสงสะท้อนขึ้น